ตาลมังกร ๑

Lecanopteris crustacea Copel.

เฟิร์นอิงอาศัย ลำต้นเกาะเลื้อย อวบน้ำ ภายในกลวงมักเป็นที่อยู่ของมด ใบเดี่ยว เรียงสลับไม่เป็นระเบียบขอบใบหยักแบบขนนก แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง กลุ่มอับสปอร์รูปขอบขนาน อยู่ทางด้านล่างของแผ่นใบและฝังอยู่ในแผ่นใบ เรียงตัวเป็นแถว ๒ ข้างของเส้นแบ่งกลางแฉกใบ ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

ตาลมังกรชนิดนี้เป็นเฟิร์นอิงอาศัย มีลำต้นเกาะเลื้อย แตกสาขามาก รูปทรงกระบอกแบน อวบน้ำสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. ภายในกลวงมักเป็นที่อยู่ของมด (พืชสมชีพมด) มีเกล็ดปกคลุมทั่วไป แต่จะหนาแน่นที่ปลายยอด เกล็ดแบบก้นปิด รูปร่างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มี ๒ สี ตรงกลางมีสีน้ำตาลดำ ส่วนขอบโดยรอบเป็นสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงสลับไม่เป็นระเบียบ แต่ละใบห่างกันประมาณ ๑ ซม. หรือมากกว่า ใบมี ๒ แบบ คือ ใบที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์และใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์ ใบที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์มีก้านใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. โคนก้านใบมีเกล็ดประปราย ช่วงบนเกลี้ยงและแผ่เป็นปีกแคบ ๆ เชื่อมต่อกับโคนใบ มีช่วงต่อโคนก้านใบสั้น ขอบใบหยักแบบขนนก สีเขียวหรือสีน้ำตาลแดง แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงเป็นมัน กว้างได้ถึง ๒๐ ซม. ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. ปลายมน โคนเรียวสอบเชื่อมติดกับปีกของก้านใบ ส่วนใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์จะแคบกว่า ขอบหยักเว้าลึกมากเป็นแฉกเยื้องกันสลับซ้ายขวา แต่ละแฉกรูปแถบ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวได้ถึง ๗ ซม. แฉกจะกว้างขึ้นไปสู่ปลาย แฉกปลายสุดกว้างที่สุด เส้นกลางใบสีเข้มกว่าแผ่นใบ เป็นสันนูนทางด้านบน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด

 กลุ่มอับสปอร์รูปขอบขนาน อาจยาวได้ถึง ๒ มม. อยู่ทางด้านล่างของแผ่นใบและฝังอยู่ในแผ่นใบเห็นเป็นรอยนูนเด่นชัดทางด้านบน เรียงตัวเป็นแถว ๒ ข้างของเส้นแบ่งกลางแฉกใบ ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

 ตาลมังกรชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบเกาะอาศัยบนต้นไม้และโขดหินชื้น ๆ ในป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาลมังกร ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lecanopteris crustacea Copel.
ชื่อสกุล
Lecanopteris
คำระบุชนิด
crustacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Copeland, Edwin Bingham
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1964)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สหณัฐ เพชรศรี และ ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด